ตามรายงานข่าวแจ้งว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เป็นการเตือนให้ทราบว่าภัยคุกคามจากสถานการณ์แพร่ระบาดยังดำรงอยู่ แม้จะไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แล้วก็ตาม แต่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยังออกคำเตือนให้ระวังต่อภัยคุกคามของโรค-เอ็กซ์ (Disease-X) อย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในการยกระดับการจัดการด้านสาธารณสุขของโลกจึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทย ไต้หวัน และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่อาจละเลยได้

ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกและหลายประเทศได้เริ่มพิจารณายุทธศาสตร์การรับมือ และระบุว่ากฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation: IHR) มีกฎระเบียบที่จำกัดความเกินไป และควรแก้ไขทบทวนกฎระเบียบ รวมถึงอนาคตส่งเสริมกลไกติดตามตรวจสอบรายงาน และการแบ่งปันข้อมูล ยกระดับความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนปรับปรุงเกณฑ์ขั้นต่ำในการประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็เร่งรัดการหารือความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic Agreement) ครั้งใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีระบบการตรวจสอบความรับผิดชอบ ความโปร่งใสและความเป็นธรรม อันจะเป็นต้นแบบโครงสร้างการรับมือภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก ความตกลงฉบับนี้คาดว่าจะผ่านมติที่ประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชเอ ครั้งที่ 77 ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้

ไต้หวันสนับสนุนการทบทวนปรับปรุงกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR2005) อย่างแข็งขัน และขอสนับสนุนความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไต้หวันไม่ใช่สมาชิกของดับเบิลยูเอชโอ จึงไม่อาจเข้าร่วมการประชุมการแก้ไข IHR2005 ดับเบิลยูเอชโอควรสนับสนุนไต้หวันให้ได้เป็นสมาชิกของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของไต้หวัน กับระบบการจัดการสาธารณสุขของโลก

นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

คณะกรรมการเศรษฐศาสตร์สุขภาพประชากรขององค์การอนามัยโลกพบว่า อย่างน้อยมี 140 ประเทศที่ยอมรับในรัฐธรรมนูญว่าสุขอนามัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ผ่านกฎหมายการคุ้มครองให้ประชากรของตนได้รับการดูแลด้านสุขอนามัย ไต้หวันทุ่มเทกับเรื่องนี้อย่างมาก ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลและภาคประชาชนของไต้หวันพยายามร่วมแรงร่วมใจกับมิตรประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือประชาคมโลก ทำให้สิทธิสุขอนามัยเกิดขึ้นจริง

ไต้หวันขอเสนอให้ ดับเบิลยูเอชโอรักษาทีท่าที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากกว่านี้ โดยยึดหลักการมืออาชีพและความครอบคลุม เชื้อเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมดับเบิลยูเอชเอ การหารือ กิจกรรม และกลไกอื่นที่จัดโดย ดับเบิลยูเอชโอรวมทั้งการประชุมความตกลงภาวการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งดับเบิลยูเอชโอกำลังหารืออยู่ขณะนี้ เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมาย “สุขอนามัยคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ตามธรรมนูญของ ดับเบิลยูเอชโอ และวิสัยทัศน์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น).

เลนซ์ซูม

ขอขอบคุณ : สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย