สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงรุนแรง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น ก็ยั่งยืนและแน่นแฟ้นมาช้านาน รวมทั้งในสถานการณ์เช่นนี้ หลังมีพิธีแลกเปลี่ยนหนังสือลงนาม การส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019(COVID-19) แก่ราชอาณาจักรไทย ระหว่างนายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โอกาสนี้ นายนะชิดะ คะสุยะ นำสารเผยแพร่สู่ประชาชนชาวไทยว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 ได้นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกของเรา โดยปรับกระบวนทัศน์ในเรื่ององค์ความรู้และความเชื่อเดิมที่เคยมีมา ใครเล่าจะจินตนาการได้ว่า จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งได้ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้นอย่างมหาศาล ที่แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่สามารถเอาชนะโรคระบาดนี้ได้

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มการฉีดวัคซีนอย่างเต็มรูปแบบ เปรียบได้กับการเห็นแสงสว่างเรืองรองที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งเราจะต้องขยายแนวทางการปฏิบัตินี้ และเร่งการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยจำนวนราว 100,000 คน ต่างเฝ้ารอที่จะได้รับการฉีดวัคซีนในเร็ววันนี้เช่นกัน และเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศที่จะมอบวัคซีนแอสตราเซนเนกา แบบให้เปล่าแก่ประเทศไทย จำนวนประมาณ 1,000,000 โดส

ในสภาวะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า “จะไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” นอกจากการมอบวัคซีนแบบให้เปล่าแล้ว ประเทศญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ แก่ประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เช่น การจัดเตรียมอุปกรณ์ในระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain System) ซึ่งจำเป็นต่อการขนส่ง และการเก็บรักษาวัคซีน การยกระดับความสามารถในการตรวจหา และเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ และการส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อเร่งการคิดค้นวิจัยวิธีรักษาโรค เป็นต้น

ผมหวังด้วยใจจริงว่า ความช่วยเหลือเหล่านี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้ และนำพารอยยิ้มกลับมาสู่ทุกท่าน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกครั้ง

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างเคยประสบกับวิกฤตการณ์ในระดับประเทศ ในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น และเหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย ซึ่งในครั้งนั้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ พระราชวงศ์ไทย รัฐบาลไทย และประชาชนชาวไทย ต่างได้มอบความช่วยเหลือทั้งการบริจาคสิ่งของและให้เงินสนับสนุน รวมถึงส่งทีมแพทย์ไทยไปยังพื้นที่ภัยพิบัติด้วย

ในขณะเดียวกันเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย องค์กรและประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างร่วมกันบริจาค ทั้งยังมีการส่งทีมรถสูบน้ำจากประเทศญี่ปุ่นเข้าไปให้ความช่วยเหลือ จึงกล่าวได้ว่า ทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างอยู่เคียงข้างซึ่งกันและกันในภาวะวิกฤต และสานสัมพันธ์แห่งมิตรภาพอย่างแน่นแฟ้น

ในปีพ.ศ. 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 มีจำนวนชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยมากถึงประมาณ 1,800,000 คน ในขณะเดียวกัน มีชาวไทยที่เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นตลอดทั้งปีประมาณ 1,320,000 คน ซึ่งต่างก็เป็นจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และแม้แต่ในวิกฤติการณ์การแพร่ของโรคระบาดเช่นนี้ จำนวนของร้านอาหารญี่ปุ่นก็ยังคงเพิ่มมากขึ้นถึง 4,000 กว่าร้าน จำนวนนักฟุตบอลชาวไทยที่ได้มีโอกาสไปแสดงฝีเท้า ในการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพของประเทศญี่ปุ่น (เจลีก) ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งละครไทยก็กำลังเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นชาวไทยหลายท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากจะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ทันทีที่สิ้นสุดวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ในปีหน้า จะครบรอบ 135 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น มิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศจะยิ่งแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีกอย่างมั่นคง และจนกว่าจะถึงวันนั้นผมเชื่อมั่นว่า ทั้งประชาชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่นจะสามารถเดินทางไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันด้วยรอยยิ้มได้อย่างแน่นอน.

——————

สังคมโลก : เลนซ์ซูม